การออกกำลังกายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ถ้าถามถึงการออกกำลังกายที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการวิ่งนั่นเองค่ะ แต่การจะวิ่งให้มีประสิทธิภาพ วิ่งได้นาน ไม่เหนื่อยง่าย นอกจากท่าวิ่งที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่ง คือ การหายใจขณะวิ่ง
การหายใจขณะวิ่ง จะไม่เหมือนกับการหายใจในเวลาปกติ ดังนั้น การฝึกหายใจขณะวิ่ง ให้ถูกวิธี จะทำให้เราวิ่งอย่างสนุกยิ่งขึ้น วิ่งได้นานขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะนักวิ่งมือใหม่ ควรฝึกหายใจ ตั้งแต่ตอนแรกที่เพิ่งเริ่มหัดวิ่ง จะเป็นการดีกว่าที่จะมาปรับแก้ภายหลัง
การหายใจขณะวิ่ง สำคัญแค่ไหน
นักวิ่งหลายคนที่ฝึกวิ่งครั้งแรกอาจจะเคยประสบกับปัญหา วิ่งแล้วเหนื่อยง่าย วิ่งแล้วหายใจไม่ทัน นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ฝึกวิธีการหายใจขณะวิ่งอย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ง่าย จนบางครั้งก็รู้สึกหายใจไม่ทัน เพราะปอดทำงานหนัก จนทำให้หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปไม่เพียงพอ
ดังนั้น การฝึกหายใจขณะวิ่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยให้เราไม่เหนื่อยง่าย และเลี่ยงการเกิดอาการจุกเสียดที่เกิดขึ้นขณะวิ่ง
เมื่อไหร่ที่เราเกิดอาการดังกล่าวขณะที่กำลังวิ่ง แนะนำให้หยุดวิ่งทันที เพื่อป้องกันการเกิดอาการที่รุนแรงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะบริเวณซี่โครงและช่องท้องของเราในภายหลังได้
เพราะฉะนั้นหากเราต้องการวิ่งหรือต้องการฝึกซ้อมวิ่ง ควรรู้ วิธีหายใจขณะวิ่ง ให้ถูกต้องก่อน เพื่อผลดีต่อร่างกายของเราทั้งขณะวิ่งและหลังวิ่งในระยะยาวนั่นเอง
วิธีหายใจขณะวิ่ง แบบไหน เหมาะกับการวิ่งที่สุด
โดยปกติแล้วการหายใจจะมี 2 วิธี คือ
1. หายใจด้วยกล้ามเนื้อซี่โครง หรือหายใจด้วยหน้าอก
การหายใจด้วยกล้ามเนื้อซี่โครง คือ หน้าอกจะขยายออกเมื่อหายใจเข้า พร้อมกับหน้าท้องจะยุบลง ส่วนเวลาหายใจออกจะสังเกตได้ว่าหน้าท้องจะขยาย และหน้าอกยุบลง การหายใจลักษณะนี้จะทำให้ออกซิเจนเข้ากล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องหายใจเร็วขึ้นกว่าเดิม
การหายใจด้วยกล้ามเนื้อซี่โครง จะทำให้เวลาที่วิ่งนานๆ หรือวิ่งเร็วๆ จะมีอาการจุกเสียดชายโครงได้ง่าย ทั้งนี้ให้ลองสังเกตดูว่า เวลาวิ่งเรามักจะหายใจแบบนี้หรือไม่ ถ้าใช่ก็ควรเปลี่ยนมาฝึกการหายใจด้วยวิธีที่ 2 ค่ะ
2. หายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม หรือ หายใจด้วยท้อง
การหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม คือ การหายใจเพื่อเอาอากาศเข้าไปในปอดให้มากที่สุด โดยเมื่อหายใจเข้ากล้ามเนื้อกระบังลมจะเคลื่อนตัวลงทำให้ลมเข้าไปในปอด จะสังเกตได้ว่าหน้าท้องพองขึ้น เมื่อหายใจออกกล้ามเนื้อกระบังลมจะเคลื่อนตัวขึ้น หน้าท้องจะยุบลง
ซึ่งวิธีการหายใจแบบนี้จะเป็นผลดีในการวิ่งมากกว่า เพราะเวลาที่เราวิ่งจะไม่เกิดอาการจุกเสียดที่บริเวณชายโครง แม้ว่าจะวิ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็ตาม และการหายใจด้วยหน้าท้องมีส่วนช่วยให้หายใจเข้าและออกได้อย่างเต็มปอดมากขึ้น จึงช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจได้อีกด้วย
ดังนั้น ในการเริ่มฝึกหายใจขณะวิ่งนั้น อย่างแรกคือ การฝึกหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลมนั่นเอง
ฝึกจังหวะหายใจตอนวิ่ง ช่วยให้วิ่งได้ไกลขึ้น นานขึ้น
จังหวะในการหายใจนั้นมีหลายแบบ วันนี้ Fit Me จะมาแนะนำจังหวะหายใจเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เริ่มฝึกวิ่งกันค่ะ
เทคนิคการสร้างจังหวะในการหายใจให้มีความสัมพันธ์กับการลงเท้าที่ถูกต้อง เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้เราสามารถวิ่งได้นานขึ้น อีกทั้งเทคนิคนี้ยังช่วยให้มีลมหล่อเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ปอดและกล้ามเนื้อกระบังลมทำงานสัมพันธ์กัน ลดการเกิดอาการจุกเสียดระหว่างวิ่ง
การฝึกจังหวะหายใจเบื้องต้นที่ Fit Me นำมาฝากกัน มี 2 แบบ คือ แบบ 3:3 และ แบบ 3:2
ฝึกจังหวะหายใจแบบ 3:3
เป็นการฝึกหายใจเบื้องต้นสำหรับการวิ่งเบาๆ ใช้ความเร็วไม่มาก โดยให้หายใจเข้า 3 ก้าว และหายใจออก 3 ก้าว ทำสลับแบบนี้ไปเรื่อยๆ
– เริ่มก้าวเท้าขวานับ 1 ให้หายใจเข้า ลงเท้าซ้ายนับ 2 ลงเท้าขวานับ 3
– ลงเท้าซ้ายนับ 1 ให้หายใจออก ลงเท้าขวานับ 2 ลงเท้าซ้ายนับ 3
– จากนั้นเริ่มรอบใหม่ ก้าวเท้าขวานับ 1 ให้ค่อยๆ หายใจเข้า ลงเท้าซ้ายนับ 2 ลงเท้าขวานับ 3 แบบนี้วนไปเรื่อยๆ
หากเราวิ่งหนักขึ้น ใช้ความเร็วมากขึ้น สามารถปรับการหายใจเป็นแบบ 2:2 ได้ เพราะเมื่อออกกำลังกายหนักขึ้น ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น ทำให้เราต้องหายใจเข้าเร็วขึ้นนั่นเอง
ฝึกจังหวะหายใจแบบ 3:2
เป็นการฝึกจังหวะหายใจที่ยากกว่าแบบแรก เป็นการหายใจเข้า 3 ก้าว และหายใจออก 2 ก้าว
– เริ่มก้าวเท้าขวานับ 1 ให้หายใจเข้า ลงเท้าซ้ายนับ 2 ลงเท้าขวานับ 3
– ลงเท้าซ้ายนับ 1 ให้หายใจออก ลงเท้าขวานับ 2
– จากนั้นเริ่มรอบใหม่ ก้าวเท้าขวานับ 1 ให้ค่อยๆ หายใจเข้า ลงเท้าซ้ายนับ 2 ลงเท้าขวานับ 3 แบบนี้วนไปเรื่อยๆ
และถ้าหากเพิ่มความหนักในการวิ่ง หรืออยากวิ่งเร็วขึ้น สามารถปรับจังหวะหายใจ 3:2 เป็นแบบ 2:1 ได้เช่นกัน
จังหวะหายใจแบบ 3:2 คือหายใจเข้าจะลงเท้า 3 ครั้ง หายใจออกจะลงเท้า 2 ครั้ง เทคนิคการหายใจขณะวิ่ง แบบนี้ จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บได้ดีขึ้น เพราะช่วงที่เราหายใจเข้าอยู่นั้นกล้ามเนื้อจะมีการยืดหดสร้างความเสถียรให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว แต่เมื่อหายใจออกกล้ามเนื้อจะยืดตัว ลดความเสถียรของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวลง
ดังนั้นจังหวะ 3-2 จึงออกแบบมาให้ลงขาในช่วงหายใจเข้ามากกว่า ร่างกายพร้อมรับแรงกระแทกได้มากกว่าช่วงลงขาขณะหายใจออก และยังช่วยลดอาการจุกเสียดขณะวิ่งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ช่วยให้เราสามารถวิ่งได้นานขึ้นอีกด้วย
สรุป
การฝึกหายใจขณะวิ่ง เราควรหาจังหวะหายใจที่เหมาะกับตัวเอง เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานร่างกายที่แตกต่างกัน และนอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือการฝึกซ้อมวิ่งและการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและป้องกันอาการบาดเจ็บ
ทั้งหมดนี้เป็น วิธีหายใจขณะวิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่นักวิ่งทุกคนสามารถฝึกได้ และหากเราสามารถฝึกการหายใจได้อย่างถูกต้องแล้ว ทุกครั้งที่ออกวิ่งเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้เราจะไม่ต้องประสบกับอาการบาดเจ็บ อาการจุกเสียด แถมยังช่วยให้การวิ่งของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
Fit Me ฝากกด Like เพจด้วยนะคะ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ จากเรา
บทความล่าสุด
วิ่ง ออกกำลังกาย
ข้อดี ข้อเสีย การวิ่งตอนเช้ากับตอนเย็น วิ่งตอนไหนดีกว่ากัน
บอดี้เวท ออกกำลังกาย
10 ท่าลดต้นแขนย้วน ไม่กระชับ สำหรับผู้หญิง ท่าบริหารง่ายๆ
ออกกำลังกาย
คาร์ดิโอ คืออะไร มีอะไรบ้าง ช่วยลดพุง ลดไขมัน ต้องออกกำลังกายกี่นาที
บทความยอดนิยม
สุขภาพ
เคล็ดลับวิธี คำนวณปริมาณแคลอรี่ ที่ต้องการต่อวัน
ออกกำลังกาย เคล็ดลับ
ออกกำลังกายลดน้ำหนักให้ได้ผล “คาร์ดิโอ กับ เวทเทรนนิ่ง” แบบไหนได้ผลกว่ากัน
วิ่ง ออกกำลังกาย
วิ่งลดน้ำหนัก วิ่งยังไงให้ผอม ไปอ่านวิธีที่ถูกต้องกัน รับรองลดความอ้วนได้แน่
หมวดหมู่สินค้า
สปอร์ตบรา
เสื้อกีฬา
กางเกงขาสั้น
กางเกง 5 ส่วน
กางเกงขายาว
อื่นๆ